ความรู้ที่ได้รับ

ด้านที่มาของศาลาแก้วกู่


          หลวงปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ เป็นผู้นำลูกหลานศิษยานุศิษย์และญาติโยมทางศาสนา ร่วมแรงร่วมใจด้วยศรัทธาอันแรงกล้า สร้างขึ้นเพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้ศึกษาเทวประวัติ พุทธประวัติ ประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามทางศาสนา 

ชีวประวัติ และ ปฏิปทาสังเขป ของ หลวงปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์

          หลวงปู่เหลือ สุรีรัตน์ เกดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2476 ที่คุ้มวัดศรีษะเกษ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เป็นบุตรของคุณพ่อมั่น คุณแม่ทองอยู่สุรีรัตน์
          มีพี่น้องร่วมสายโลหิต อุทรณ์เดียวกันทั้งหมด 8 คน ดังนี้
                     1.นางคำปลิว พวงพิมาลย์(ถึงแก่กรรม)
                     2.นางตุ้มทอง อุดมลักษ์(อยู่ที่อ.ชุมแพ)(ถึงแก่กรรม)
                     3.นายไพโรจน์ สุรีรัตน์ (ถึงแก่กรรม)
                     4.นางละเมียด ฉายฝาก(อยู่ที่กรุงเทพ)(ถึงแก่กรรม)
                     5.นายสมพงค์ สุรีรัตน์(ถึงแก่กรรม)
                     6.นายสมพร สุรีรัตน์(ถึงแก่กรรม)
                     7.หลวงปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์(ประธาน พ.ม.ส. หนองคาย)
                     8.นางอุดม ละครลี(บ้านดอนมน หนองคาย)

          หลวงปู่บุญเหลือเกิดจากการที่อาจารย์ครูคำหริ่ง-นางคำปลิว ปรารถนาอยากมีบุตรจึงพากันไปอธิษฐานบนบานศาลกล่าวขอบุตรจาก หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคายและหลวงพ่อองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ซึ่งสถานที่ทั้งสองแห่งเป็นสถานที่ศักด์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวเมืองหนองคายทั้งใกล้และไกลสืบเนื่องกันมายาวนาน
          
       ซึ่งในอีกไม่นานนางทองอยู่ สุรีรัตน์ ได้ตั้งครรภ์และให้กำเนิดเป็นบุตรชาย อาจรย์คำหริ่งและภรรยาได้ทำการผูกขวัญรับเป็นบุตรเสมอเนตร และให้ชื่อว่า สายสมร พวงพิมาลย์ เป็นเด็กที่เลี้ยงยากมากต่อมาบิดามารดาได้เปลี่ยนชื่อจาก สายสมร เป็น บุญเหลือ เมื่อมีอายุย่างเข้า 12 ปี ได้ตัดสินใจหนีออกจากบ้าน มุ่งหน้าหนีไปตามกรรม เที่นวเสาะแสวงหาสำนักปฏิบัติธรรมที่พึ่งพาทางใจเรื่อยไปไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ตั้งหน้าตั้งตาทนต่อสู้กับมรสุมชีวิต โดยเชื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้าคงจะได้พบโมกขธรรมอันแท้จริงแน่นอน
          
          ตลอดเวลาที่ท่านหนีไป จนอายุ 20 ปี ท่านได้ใช้ชีวิตของท่านศึกษาเล่าเรียนศิลปะศาสตร์ ในอาศรมของพระมุนีเป็นเวลา 6 ปี จึงได้อำลาจากอาศรมแก้วกู่ไป อนึ่ง ก่อนมารดารสิ้นบุญ หลวงปู่บุญเหลือได้รับมรดกที่ดินแปลงหนึ่ง มีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่เศษ อยู่ที่บ้านเชียงควาน ประเทศลาว ตรงข้ามกับวัดธาตุ หนองคายในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2513 ที่ดินแปลงดังกล่าว หลวงปู่บุญเหลือได้พัฒนา สร้างเป็นปูชนียสถานเทวลัยหลายอย่างมหึมาเป็นสถานที่สักการบูชาขึ้น หลวงปู่บุญเหลือ พร้อมกับสานุศิษย์ได้อุตสาหะสร้างปูชนียวัตถุอันล้ำค่าทางด้านพระพุทธศาสนา ให้ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเกิดศรัทธาเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก
      
    สิ่งที่ประจักษ์แก่สายตาเมื่อก้าวเข้าไปในมหัศจรรย์สถานแห่งนี้ นอกจากศาลาที่มีหลังคาเป็นรูปหมวก (หรือศิวลึงค์?!?) อันเป็นสถานที่จุดธูปเทียนบูชาแล้ว ก็จะเห็นอาคารสูงหลายชั้นที่เรียกว่า “ศาลาแก้วกู่” ใช้เป็นสำนักงาน จัดเก็บประวัติและข้าวของสารพัดชนิดหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมก็ได้ 
          
          พื้นที่กลางแจ้งหรือที่หลายคนยกให้เป็น “พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง” มีสิ่งที่เรียกว่า “ปูชนียวัตถุและพุทธปูชนียสถานเทวาลัย” คือรูปปั้นพิสดารพันลึกมากมาย อาทิ รูปปั้นปางพระอิศวร – พระอุมาเสวยสุข ปางพระพุทธเจ้าเสด็จหนีออกบรรพชา ปางทรงศึกษาที่ธรรมะกับพระฤาษี ปางกามเทพ (คิวปิต) ปางฤาษีแก้วกู่อะธามา ปางพระขันทกุมารฯลฯเมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยก็จะทำพิธีอัญเชิญเทพเทวามาสถิตนอกจากนี้แล้ว ยังมีรูปปั้นเล่าเรื่องต่างๆ อีกมาก ทั้งรูปปั้นเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ รามเกียรติ์ ตำนานพื้นบ้านเช่นท้าวฮุ่งท้าวเจือง รูปปั้นราหูอมจันทร์ ฯลฯ จนถึงปัจจุบันเมื่อรวมรูปปั้นทั้งเล็กใหญ่แล้วว่ากันว่ามีไม่น้อยกว่าหลักพัน ที่ฐานของเทวรูปและรูปปั้นต่างๆ จะมีคำบรรยายจารึกไว้ซึ่งมีทั้งภาษาไทย ภาษาอีสาน และส่วนที่เรียกว่า “ปริศนาธรรม” บ้างคนนิยมมาเที่ยวชมที่นี่เหมือนมาเที่ยวชมภาพจำลองนรก-สวรรค์ และดินแดนรวมแห่งทุกศาสนา

จุดเด่น  :  งานประติมากรรมปูนปั้นขนาดใหญ่ ที่เกี่ยวกับเรื่องราวพุทธประวัติ และคำสอนตามหลักศาสนาต่างๆ ที่นำมาผสมผสานรวมกัน เพื่อชี้ให้ทุกคนเห็นถึงบาป บุญ และผลจากการกระทำ ซึ่งเทวาลัยทั้งหมดเกิดจากแรงบันดาลใจของปู่เหลือ ที่ต้องการให้เทวสถานแห่งนี้เป็นที่หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง

จุดด้อย  :  เนื่องจากสถานที่ทั้งหมดเป็นลานโล่งกลางแจ้ง การเดินชมตามเทวาลัยต่างๆ ในช่วงกลางวันแดดจึงร้อนมาก นอกจากนี้ป้ายคำอธิบายบริเวณฐานเทวาลัย จะมีเพียงภาษาไทยเท่านั้น สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวชม อาจจะไม่สามารถเข้าใจความหมายของเทวาลัยต่างๆ ได้ครับถ้วน


ข้อสรุป  :  ศาลาแก้วกู่ หรือ วัดแขก แห่งนี้ นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองคาย และยังนับเป็นศาสนสถานที่มีการจัดแสดงประติมากรรมปูนปั้นกลางแจ้งขนาดยักษ์จำนวนมากที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว หากใครได้มาเที่ยวที่จังหวัดหนองคายแล้ว ก็ไม่ควรพลาดมาเที่ยวชมให้ได้ซักครั้ง


ด้านประติมากรรม

           จากแนวคิดของคนสมัยก่อนในการสร้างประติมากรรมได้เปรียบเป็นประติมากรรมของศาลาแก้วกู่ว่าเป็น Folk art and Handicraft ศิลปะพื้นบ้านและงานหัตถกรรม ซึ่ง Folk = พื้นถิ่น พื้นบ้าน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว Craft = งานช่าง ซึ่งทำด้วยมือเป็นหลัก  และ Art = ศิลปะ คือผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่แสดงออกในรูปแบบของงานแขนงต่างๆ ให้ปรากฏซึ่งสุนทรียภาพ ความงาม ความประทับใจ ความะเทือนอารมณ์เพื่อความรื่นรมย์ความเชื่อและประเพณี


งานหัตถกรรม มีข้อกำหนด 2 อย่างน้อยประการ คือ

1. เป็นงานที่ใช้ทักษะฝีมือและมีลักษณะประณีตสวยงาม
2. เป็นงานสร้างสรรค์ด้วยฝีมือ เพื่อจุดประสงค์คือ ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้สอย

ศิลปะพื้นบ้านและงานหัตถกรรมขึ้นอยู่กับข้อกำหนดอย่างน้อย 3 ประการ คือ

1. เป็นผลงานที่สร้างขึ้นจากความรู้ความสามารถ และเทคนิค ที่มีการฝึกฝน อบรมในชุมชนที่สั่งสมสืบทอดต่อๆ กันมาเป็นเวลายาวนาน
2. เป็นผลงานที่มีลักษณะสวยงาม กล่าวคือมีรายละเอียดที่ประณีตบรรจง ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้สร้าง ที่ต้องการให้ชิ้นงานมีความสวยงาม
3. เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของวิถีชีวิต ความเชื่อ และค่านิยมของท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะศิลปะพื้นบ้านและงานหัตถกรรมเป็นงานที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการในชุมชนที่มีวิถีชีวิตแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบของงานอาชีพ

         จากแนวคิดของคนในสมัยนี้เป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการสร้างรูปทรง 3 มิติ มีปริมาตร มีน้ำหนักและกินเนื้อที่ในอากาศ โดยการใช้วัสดุชนิดต่าง ๆ วัสดุที่ใช้สร้างสรรค์งานประติมากรรม จะเป็นตัวกำหนด วิธีการสร้างผลงาน ความงามของงานประติมากรรม เกิดจากการแสงและเงา ที่ เกิดขึ้นในผลงานการสร้างงานประติมากรรมทำได้ 4 วิธี คือ


1. การปั้น (Casting) เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ จากวัสดุ ทีเหนียว อ่อนตัว และยึดจับตัว กันได้ดี วัสดุที่นิยมนำมาใช้ปั้น ได้แก่ ดินเหนียว ดินน้ำมัน ปูน แป้ง ขี้ผึ้ง กระดาษ หรือ ขี้เลื่อยผสมกาว เป็นต้น
  
2. การแกะสลัก (Carving) เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ จากวัสดุที่ แข็ง เปราะ โดยอาศัย เครื่องมือ วัสดุที่นิยมนำมาแกะ ได้แก่ ไม้ หิน กระจก แก้ว ปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น

3. การหล่อ (Molding) เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ จากวัสดุที่หลอมตัวได้และกลับแข็ง ตัวได้ โดยอาศัยแม่พิมพ์ ซึ่งสามารถทำให้เกิดผลงานที่เหมือนกันทุกประการตั้งแต่ 2 ชิ้น ขึ้นไป วัสดุที่นิยมนำมาใช้หล่อ ได้แก่ โลหะ ปูน แป้ง แก้ว ขี้ผึ้ง ดิน เรซิ่น พลาสติก ฯลฯ รำมะนา (ชิต เหรียญประชา)
  
4. การประกอบขึ้นรูป (Construction) เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ โดยนำวัสดุต่าง ๆ มา ประกอบเข้าด้วยกัน และยึดติดกันด้วยวัสดุต่าง ๆ การเลือกวิธีการสร้างสรรค์งานประติมากรรม ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ต้องการใช้ ประติมากรรม ไม่ว่าจะสร้างขึ้นโดยวิธีใด จะมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ แบบนูนต่ำ แบบนูนสูง และแบบลอยตัว ผู้สร้างสรรค์งานประติมากรรม เรียกว่าประติมากรรม

โดยที่ศาลาแก้วกู่จะมีทั้งประติมากรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.ประติมากรรมแบบนูนต่ำ ( Bas Relief ) เป็นรูปที่เป็นนูนขึ้นมาจากพื้นหรือมีพื้นหลัง รองรับ มองเห็นได้ชัดเจนเพียงด้านเดียว คือด้านหน้า มีความสูงจากพื้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรูป จริง ได้แก่รูปนูนแบบเหรียญ รูปนูนที่ใช้ประดับตกแต่งภาชนะ หรือประดับตกแต่งอาคารทาง สถาปัตยกรรม  พระเครื่องบางชนิด  

2.ประติมากรรมแบบนูนสูง ( High Relief ) เป็นรูปต่าง ๆ ในลักษณะเช่นเดียวกับแบบ นูนต่ำ แต่มีความสูงจากพื้นตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของรูปจริงขึ้นไป ทำให้เห็นลวดลายที่ลึก ชัดเจน และ และเหมือนจริงมากกว่าแบบนูนต่ำและใช้งานแบบเดียวกับแบบนูนต่ำ เช่น สถาปัตยกรรมฝาผนัง

3.ประติมากรรมแบบลอยตัว ( Round Relief ) เป็นรูปต่าง ๆ ที่มองเห็นได้รอบด้านหรือ ตั้งแต่ 4 ด้านขึ้นไป ได้แก่ ภาชนะต่าง ๆ รูปเคารพต่าง ๆ พระพุทธรูป เทวรูป รูปตามคตินิยม รูปบุคคลสำคัญ รูปสัตว์ ฯลฯ


ทวลัยปางต่าง ที่ศาลาแก้วกู่ ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ 


           
             เทวลัยปางนี้ คือ ผู้ที่มีกรรมจะต้องเกิดตามกรรมที่ตนสร้างไว้หากผู้ใดยังไม่พ้นในคำว่า"สัตว์โลก"ผู้นั้นจะต้องมาเกิดอีกการเกิดนั้นจะต้องเข้าทางทวารผ่านเทวลึงค์ ดองอยู่ในความเน่าเหม็นของมดลูก 9 เดือน 10 เดือน จึงจะหอบหิ้วเอาความเจ็บปวด ผ่านเทวลึงค์อย่างปวดร้าวและทรมาน ของแม่ผู้ให้กำเนิดสัตว์โลก ออกมาสู่ภายนอกไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ยังห่วงใยในวัฎฎะสงสารนี้ บาปและบุญจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่หยุดหย่อนถ้าหากบุคคลใดพยายามหลุดพ้นจากทุกข์ซึ่งความทุกข์นี้มีอยู่ในตัวของบุคคลนั้นแล้วและนี่คือ คุณพระบิดาและคุณพระมารดาทั้งสองนี้เป็นทางผ่านเข้าสู่เมือกายะนคร สักกะเทวลึงค์ก็ปรุงสักกลึงค์ ของผู้ที่ยึดกรรม ตามวรรณคดีของโลกธาตุมาจนบัดนี้


          เทวลัยปางนี้ คือ องค์มุณีแก้วกู่ ฤษีอะฮามา มีอาศรม อยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์หรือดงเกษรียรสมุทรสาครใต้สะดือทะเล ซึ่งมีอายุขัย 25 พุทธธันดรนับแต่พุทธธันดรองค์ พระทีมังกรพุทธเจ้า เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ตามวรรณคดีของแก้วกู่สร้างเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2521


           พระเทวลัยปางนี้ คือ สิริคุตทีสังฆะอสุรินราหู มหาบรมโพธิสัตว์หน่อพุทธังกูลอนาคต พุทธวงศ์ องค์ที่ 9 จากพระศรีอริยเมตไตรย มหาบรมโพธิสัตว์ จะมาตรัสรู้เบื้องหน้าในวาระกัลป์ ทรงพระนามว่า นารทพุทธเจ้า ตรัสรู้เข้าสู่พระนิพพาน ตามวรรณคดีของพระศาสนาอนาคตพุทธวงศ์ ชาวอำเภอปากคาด และท่านผู้ใจบุญที่มาเที่ยว เป็นผู้ออกศรัทธาสร้างปางนี้ สร้างพร้อมกัน 2 องค์ ตั้งแต่ 8 ..2525-24 ..2525



          พระเทวลัยปางนี้ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสวยวิมุติสุข ภายใต้ต้นมุจลินทร์ในคราวนั้นมีเมฆก้อนใหญ่ นอกฤดูกาลตั้งขึ้นมีฝนพรำเจือด้วยลมหนาวอยู่ตลอด 7 วัน 7 คืน มีพญามุจลินทร์นาคราชได้ออกจากพิภพของตนมาทำขนดกายรอบ พระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแผ่พังพานอยู่เบื้องบนพระเศียร์ ด้วยคิดเพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ แม้ลมฝนก็ไม่ให้ถูกต้องแห่งพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เลย เมื้อสิน 7 วัน แล้ว พญานาคมุจลินทร์ จึงคลายขนดจำแลงกายเป็นมาณพน้อย ยืนประนมมืออยู่หน้าพระพักตร์แล้วได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า ความสงัดเป็นสุขของผู้ยินดี


          เทวลัยปางนี้ คือ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ทรงเสวยวิมุติสุขอยู่บนโพธิ์บัลลังค์ตลอดเจ็ดวัน แล้วก็ลุกออกจากโพธิ์บัลลังค์แล้วก็เสด็จขึ้นอากาศ เพื่อกำจัดความสงสัยแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงแสดงพระปฎิหารย์แล้วก็เสด็จไปประทับยืนอยู่ทางทิศอุดร ห่างจากบัลลังค์แล้วทรงทองพระเนตรบัลลังค์ อันเป็นที่ทำให้บรรลุผลบารมีธรรมอันยิ่งทั้งปวงทั้งหลายตลอดสงค์ไขยแสนมหากัป ด้วยอาการไม่หลับไม่ตื่นตลอด เจ็ดวันและสถานที่นั้นจึงเรียกว่า อนิมิสเจดีย์ ซึ่งแปลว่า ไม่หลับพระเนตรตามวรรณคดีของพุทธศาสนาจนบัดนี้ สำนักพุทธมามกสมาคม จ.หนองคาย ร่วมกับนักบุญที่มาเที่ยวออกศรัทธาสร้างเทวลัยปางนี้ สร้างเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2521


          เทวาลัยปางนี้ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 พระอัญญาโกณทัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พรมหานามะ และพระอัสสชิ ที่อุทยานอิสิปตน มฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 พระองค์ได้ประทานปฐมเทศนา ด้วยธรรมจักกัปปวัตตนะสูตร โปรด ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 และเทวดาหมื่นโลกธาตุแสนโกฏิ มหาจักรวาล ในราตรี วันเพ็ญเดือน 8 นั้น เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบแล้ว ได้มีพระอัญญา โกณทัญญะ และเทวดา 18 โกฏิ ได้สำเร็จธรรมจักษุต่อมา วัน 1 ค่ำ มีพระวัปปะ ได้ธรรมจักษุ วันแรม 2 ค่ำ พระภัททิยะได้ธรรม วัน 3 ค่ำ พระ มหานามะได้ธรรม จักษุ วันแรม 4 ค่ำ พระอิสชิ จนถึงวันแรม 5 ค่ำ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ประชุมพระปัญจวัคคีทั้ง 5 แล้วทรงสั่งสอนด้วย อนัตตลักษณะสูตร ยังผลส่งให้พระปัญจวัคคีย์ สำเร็จอรหันต์ ด้วยกัน ทุกพระองค์ ตามวรรณคดีของพระศาสนา มาจนบัดนี้ ...พ่อสมชาย แม่นวย พันธ์ซ้าย บ.เคือซูด จ.มหาสารคาม ศรัทธาสร้าง 9 มิ.ย. 2521 บูรณะ 8 มี.ค. 47


          เทวาลัยปางนี้ คือ หนึ่งในปัญจเทวาแห่งฎีกานโมกถา ดังบาลีกล่าวว่า "อรหโตสักโกตถา" อรรถกถานี้ สักกะอัมรินทราธิราช ได้กล่าวสรรเสริญ สดุดี พระเกียรติ พระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า นับตั้งแต่วันปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ภายใต้โพธิบัลลังก์ ในราตรี วันเพ็ญเดือน6 ต้นพุทธกาล พระอินทร์องค์นี้ เป็นจอมเทพทั้งหลาย มีวิมานชื่อว่า "เวชยันต์" อยู่ในสวรรค์ดาวดึงส์ ทรงมีพระมเหสี 4 พระองค์ คือ 1.พระแม่สุธัมมา 2.พระแม่สุนันทา 3.พระแม่สุจิตตรา 4.พระแม่สุชาดา และยังมีช้าง "เอราวรรณ" เป็นพาหนะ ท้าวสักกะเทวราชองค์นี้ มีคุณประการ เป็นอันมากต่อพระศาสนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามอุปถัมป์อารักขาภิบาล พระพุทธองค์เปรียบดุจ สามเณรตามรับใช้ ภิกษุฉันใด ก็ฉันนั้น อีกประการหนึ่ง จัดว่าสำคัญยิ่ง ก่อนพุทธปรินิพพาน ท้าวสักกะอัมรินทราธิราช ได้ทูลอาราธนา พระศาสนาจากพุทธองค์ 1000 ปี ทั้งพระอานนท์ขอ 1000 ปี และจาตุมหาราชขอ 500 ปี รวม 2500 ปี ศิริรวมทั้งพุทธดำริ 2500 ปี ฉะนั้นในศาสนายุกาล ของพุทธองค์ทั้งหมด 5000 ปี นับว่าท้าวสักกะเทวราชองค์นี้ ได้มีจิตอนุเคราะห์ แก่มนุษย์และเทวดา อย่างมากมาย ตามวรรณคดีของพระศาสนา มาจนบัดนี้ ...เฒ่าแก่กิมอู๋ แม่เหง้า แซ่เอีย จ.หนองคาย ออกศรัทธาสร้าง 19 ก.พ. 2522



          เทวาลัยปางนี้ คือ พระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ สถิตอยู่เขาไกรลาศ เป็นเทพที่มีสติปัญญา ล้ำเลิศมีวิทยาการ ศิลปมาก สามารถแก้ไข ความขัดข้อง ได้เป็นเยี่ยม กว่าเทพทั้งปวง และเป็นเทพที่ประสาน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และเทวดา ด้วยกลอุบาย อันชาญฉลาด สามารถเกลี้ยกล่อม พระเจ้าไชยวิราช ให้มีพระทัยตกลง ยอมให้นำศิวลึงค์ ลงมาประดิษฐานในเมือง มนุษย์ได้ ตามวรรณคดีของโลกธาตุ ...เฒ่าแก่กิมอู๋ แม่เหง้า แซ่เอีย ออกศรัทธาสร้าง จ.หนองคาย 25 ต.ค. 2521


         เทวาลัยปางนี้ คือ หนุมานทหารเอกของพระราม เป็นลูกของพระพาย มารดาคือ องค์พระแม่อสวาหะ จุติลงมาเพื่อช่วย พระรามปราบ อธรรม เมื่อครั้งทศกัณฑ์ เจ้ากรุงลงกา เชื้อสายองค์พระธาดาพรหม ซึ่งก่อกวนทำความเดือดร้อน ให้แก่มวลมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย ตามวรรณพระรามเกีนรติ์ มาจนบัดนี้ ..เฒ่าแก่กิมอู๋ แม่เหง้า แซ่เอีย ออกศรัทธาสร้าง 28 ต.ค. 2521



           เทวาลัยปางนี้ คือ เมื่อภายหลังพระสิทธัตถะ ได้อธิฐานบรรพชาแล้ว ก็ได้เสาะแสวงหา สันติธรรม อันประเสริฐ เรื่อยไปในที่สุดพระองค์ ก็ได้เข้าศึกษา ในสำนักของพระอาฬารดาบสกาลามโคตร ผู้ได้สำเร็จอกิญจัญญายตนะญาณ ในไม่ช้าพระองค์ก็ได้สำเร็จ จึงได้ลาอาจารย์ ไปศึกษาสำนักอื่นอีกคือ สำนักของพระอุทกรามบุตรดาบส ผู้ซึ่งได้สำเร็จ เนวสัญญานา ลัญญายตนะญาณ พระองค์ได้ศึกษาในไม่ช้าก็สำเร็จ ต่อจากนั้นพระองค์ ได้พิจารณาเห็นว่า แนวทาง ของพระอาจารย์ดาบสทั้งสองนั้น ยังไม่ใช่หนทางดับทุกข์ ดังนั้นพระองค์ จึงได้ลาอาจารย์ดาบสทั้งสอง ไปแสวงหาโมกขธรรม ด้วยพระองค์เอง ตามวรรณคดีของพระศาสนา มาจนบัดนี้ ... ร.ต.อ.ชุมพร ไวยาวัฒน์ อ.เมือง จ.หนองคาย ออกศรัทธาสร้าง 30 เม.ย. 2521

ด้านสถานที่

         ศาลาแก้วกู่ ตั้งอยู่ที่ชุมชนสามัคคี ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ออกจากตัวเมืองหนองคายใช้ทางหลวงหมายเลข 212 มุ่งหน้าไปทางอำเภอโพนพิสัยประมาณ 3 – 4 กม.จะสังเกตเห็นป้ายศาลาแก้วกู่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนน ให้กลับรถย้อนเข้ามาทางอำเภอเมืองแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยที่มีป้ายบอกทางดังกล่าวไปอีกประมาณ 500 เมตร ก็จะถึงศาลาแก้วกู่ 
ที่อยู่ : ชุมชนสามัคคี ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย 43000
เบอร์ติดต่อ : 09564721111 เบอร์ติดต่อเจ้าหน้าที่พุทธมามกะ
เวลาทำการ : 6.00-18.00 น. ค่าธรรมเนียม : ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
ไฮไลท์ : เทวลัยขนาดใหญ่ ที่ปั้นขึ้นตามเรื่องราวคำสอนของศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ซึ่งมีคำบรรยายอยู่ที่บริเวณฐานเทวาลัย ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย
กิจกรรม : เดินเที่ยวชมเทวาลัยต่างๆ พร้อมอ่านคำบรรยายเพื่อศึกษาหลักคำสอนในศาสนาไปพร้อมๆ กัน / พักผ่อนหย่อนใจบริเวณบ่อปลาด้านหลังศาลาแก้ว / สักการะร่างของพ่อปู่เหลือ  สุรีรัตน์ บนชั้น 3 ของศาลาแก้ว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ป้อนควมคิดเห็นของคุณ...